เปิดโปง เล่ห์เหลี่ยมของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่มีผลต่อการควบคุมยาสูบ

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559) ที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตราชวิถี กรุงเทพฯ โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อดีตผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ , รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันเสวนาวิชาการและแถลงข่าว เรื่อง รายงานการวิจัย เปิดโปง "เล่ห์เหลี่ยมของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่มีผลต่อการควบคุมยาสูบ” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อดีตผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า นักควบคุมยาสูบระดับโลกกล่าวว่า ถ้าจะควบคุมไข้มาลาเรีย ต้องควบคุมยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค แต่ถ้าจะควบคุมโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ต้องควบคุมบริษัทบุหรี่ที่เป็นพาหะที่ฆ่าประชากรโลกตายปีละ 6 ล้านคน (ยิ่งกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก) และฆ่าคนไทยปีละ 52,000 คนหรือตายวันละ142 คน ข้อมูลจากกรมสรรพาสามิต กระทรวงการคลัง พบว่าผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศมี 6 บริษัท โดยข้อมูลปีพ.ศ. 2556 บริษัท ฟิลิป มอริส (ไทยแลนด์) จำกัด มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดคือ 28.7% รองลงมาคือบริษัท เจ.ที. อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด 0.3 % นอกนั้นเป็นส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทข้ามชาติอื่นๆรวมกัน 1.7% โดยโรงงานยาสูบเสียส่วนแบ่งการตลาดไปเหลือเพียง 69.3% ดังนั้นทีมนักวิจัยที่สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อเปิดโปงกลยุทธของบริษัทฟิลิป มอริส ซึ่งมุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชน นักสูบหน้าใหม่เพื่อกำไรสูงสุดของบริษัท โดยการแทรกแซงกระบวนการออกกฎหมายควบคุมยาสูบในอดีตซึ่งพบหลักฐานชัดเจน จึงต้องจับตาเฝ้าระวังการแทรกแซงการออกกฎหมายควบคุมยาสูบของรัฐในปัจจุบัน
รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจทั่วโลกของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ใช้กลยุทธ์ที่แสดงถึงความเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม แต่หลักฐานที่ได้จากเอกสารลับของอุตสาหกรรมยาสูบจำนวนมากที่ถูกเปิดเผยโดยคำสั่งศาลในสหรัฐอเมริกาหลังจากแพ้คดี ชี้ให้เห็นธาตุแท้ และความไร้จริยธรรม ของธุรกิจยาสูบนี้ที่มีการแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาลในประเทศต่างๆ โดยองค์การอนามัยโลกได้สรุปผลการศึกษาทางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมยาสูบหรือบริษัทบุหรี่ที่มักใช้กันได้แก่ การแทรกแซงนักการเมืองและกระบวนการเสนอกฎหมาย การล็อบบี้เพื่อขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวนโยบายการควบคุมยาสูบ การสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเคารพ น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน การใช้ชาวไร่ยาสูบ และกลุ่มองค์กรบังหน้าเป็นเครื่องมือ การนำเยาวชนมาเป็นประเด็นสร้างภาพ การสนับสนุนบุหรี่เถื่อน การคัดค้านการพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ การโจมตีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และการข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น และในปีค.ศ. 2006 ได้มีคำพิพากษาในคดีที่รัฐบาลสหรัฐฟ้องบริษัทบุหรี่ว่าฉ้อโกง หลอกลวงประชาชนอเมริกันเป็นเวลาหลายสิบปีในเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ และการทำการตลาดกับเด็ก โดยตัดสินให้ประกาศรับผิดต่อสาธารณะ และในปีค.ศ. 2008 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ติดอันดับหนึ่งในสิบบริษัทที่แย่ที่สุดของโลก จากหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความแย่นานาประการของอุตสาหกรรมยาสูบที่มีความพยายามทำลายหรือทำให้การควบคุมยาสูบของรัฐอ่อนกำลัง จึงเป็นเหตุผลในการสนับสนุนให้มี มาตรา 5.3 แห่งกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันมิให้อุตสาหกรรมยาสูบมีบทบาทหรือเกี่ยวข้องในการออกกฎควบคุมสินค้าแห่งความตายที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ผลิตขึ้นมา
นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ก่อนการได้มาซึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ยังเป็นร่างฯ อุตสาหกรรมยาสูบได้พยายามแทรกแซงกระบวนการเสนอกฎหมาย แยกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
1. ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 30 กันยายน 2534 เวลา 10.00 น. ตัวแทนบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ซึ่งมีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส โดย นายไพฑูรย์ วิโรจน์โภคา ผู้จัดการบริษัทฟิลลิป มอร์ริสประจำประเทศไทย เข้าพบรองนายกฯ โดยปรากฏเป็นเอกสารภายในของบริษัทบุหรี่คือ บันทึกของนายวิโรจน์ ไตรรัตโนภาส ผู้แทนของบริษัท บริติชอเมริกัน โทแบคโค ประจำประเทศไทย
2. ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มี 2 เหตุการณ์ที่เด่นๆ คือ
กรณีที่ 1 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติได้ทำจดหมายถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขออนุญาตเข้าชี้แจงร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 โดยอ้างเหตุผลว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้จะเป็นผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่มีความจำเป็นที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมการประกอบกิจการสินค้าบุหรี่อยู่แล้ว ขัดต่อนโยบายการค้าของรัฐบาลที่ต้องการลดบทบาทของรัฐ เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีความคล่องตัว หลักการในร่าง พ.ร.บ.หลายประการคลุมเครือไม่ชัดเจน อีกทั้งกระบวนการพิจารณาก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบแสดงความเห็น ปัจจุบันข้ออ้างเหล่านี้ก็ยังคงถูกใช้กล่าวอ้างเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่
กรณีที่ 2 ในการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข ได้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่านหนึ่ง แอบพา “นายไพฑูรย์ วิโรจน์โภคา” เข้ามาร่วมประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมาธิการก่อน ซึ่งสิ่งที่สมาชิกสภาฯท่านนั้นพยายามอย่างยิ่ง คือ การตัดมาตรา 11 ของร่างฯออก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องเปิดเผยส่วนประกอบในการผลิตบุหรี่ เหตุที่อุตสาหกรรมยาสูบกังวล ปรากฏในคำพิพากษาคดีที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ฟ้องบริษัทบุหรี่ ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า อุตสาหกรรมยาสูบได้ปกปิดข้อมูลต่อสาธารณชนเรื่องผลการวิจัยต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพไว้ ซึ่งอุตสาหกรรมยาสูบทราบดีก่อนที่จะมีการตีพิมพ์รายงานของสำนักงานแพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. 2507 ซึ่งรายงานของคำพิพากษานั้นระบุว่า อุตสาหกรรมยาสูบสามารถควบคุมระดับของสารนิโคตินเพื่อให้เกิดการเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกระบวนการทางเคมีต่างๆ ซึ่งสารเหล่านั้นล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็ง
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยจะมีส่วนช่วยลดการบริโภคยาสูบของผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน และส่งเสริมการลดหรือเลิกสูบบุหรี่ของผู้สูบบุหรี่
ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสุขภาพกว่า 721 องค์กร และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 แต่ก็พบการคัดค้าน ขัดขวางการเสนอร่างกฎหมายนี้มาโดยตลอด โดยมีบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติคือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส เป็นแกนนำ
รูปแบบการแทรกแซงของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และเครือข่ายธุรกิจ เพื่อคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีดังนี้
1. ความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณากฎหมายผ่านช่องทางต่างๆ
2. การก่อตั้งองค์กรบังหน้า เพื่อให้เงินสนับสนุนกลุ่มชาวไร่ยาสูบ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
3. การร้องเรียนต่อรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ยับยั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้
4. การกล่าวอ้างข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจยาสูบ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้คนไทยลดการบริโภคบุหรี่หรือยาสูบ จึงเชื่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มภาษีสามิตบุหรี่จาก 87% เป็น 90% ของกระทรวงการคลังซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 แต่พวกเราก็ต้องช่วยกันสอดส่องว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และกลุ่มผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบจะเข้ามาคัดค้านด้วยวิธีการใดบ้าง

ที่มา : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 : วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อเรา

เครือข่ายกายภาพบำบัดเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
สำนักงานชั่วคราว ภาควิชากายภาพบำบัด
คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต.วังใหม่ อ.ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทร. 089-185-2000

ฝ่ายประสานงาน

อ.กภ.ทัศวิญา พัดเกาะ
คณะสหเวชศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
169 ถ.ลงหาดบางแสน ต.แสนสุข
อ.เมือง จ.ชลบุรี 20131

โทร. 064-746-7547
E-mail: tadsawiya@go.buu.ac.th

ผู้เยี่ยมชม

819780
Today
This Month
All days
1009
20911
819780