หมอประกิตตอบข้อสงสัย สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในรถที่มีเด็กอันตราย ชี้สารพิษทำหลอดลมอักเสบ
หมอประกิตตอบข้อสงสัย สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในรถที่มีเด็กอันตราย ชี้สารพิษทำหลอดลมอักเสบ วันนี้ (12 มีนาคม 2566) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สอบถามมายังมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีที่เห็นพ่อหลายคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะที่อุ้มลูก
หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้าในรถขณะที่ลูกๆ นั่งอยู่ในรถด้วย โดยมีข้อสงสัยว่าเด็กจะได้รับอันตรายจากไอบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่นั้น ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กเป็นอันตรายอย่างแน่นอน
“เพราะไอบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากมีนิโคตินที่เป็นสารเสพติด ยังมีฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กมากจำนวนมาก มีสารเคมีที่ยังไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อปอดและอวัยวะอื่นของร่างกายในระยะยาวอย่างไร และยังมีสารก่อมะเร็งหลายชนิดทั้ง เบนซีน ฟอร์มาลดีไฮด์ มีโลหะหนักเช่น ตะกั่ว นิกเกิล สังกะสี มีสารไดอะซิทิล ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ถูกทำลาย เปลี่ยนแปลง จนมีลักษณะเหมือนข้าวโพดอบ (popcorn lung)” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า จากงานวิจัยที่ติดตามวัยรุ่นที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง และการเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ 2,097 คน อายุเฉลี่ย 17.3 ปี ระหว่างปี ค.ศ.2014-2019 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 เป็น ร้อยละ 15.6 ระหว่างการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง มีอัตราการหายใจมีเสียงวี๊ดในปอด (บ่งบอกถึงรูหลอดลมเล็กลง จากการเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม อันเกิดการระคายเคืองจากสารเคมีในไอบุหรี่ไฟฟ้า) เพิ่มจากร้อยละ 12.3 เป็น ร้อยละ 14.9 มีอาการหลอดลมอักเสบเพิ่มจากร้อยละ 19.5 เป็น ร้อยละ 26 มีอาการหายใจไม่สะดวกเพิ่มจากร้อยละ 16.5 เป็นร้อยละ 18.1
“ความสัมพันธ์ของการเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจจากการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง จะยิ่งชัดเจนในคนที่ไม่สูบบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้าเลย แสดงว่าไอบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อคนใกล้ชิดอย่างแน่นอน ซึ่งในหลายประเทศมีการรณรงค์ถึงอันตรายของไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ปอดอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต จะได้รับอันตรายรุนแรงกว่าเด็กโตหรือในผู้ใหญ่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า การสูบบุหรี่ธรรมดา จะรณรงค์ไม่ให้สูบใกล้เด็ก ขณะที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็ต้องรณรงค์แบบเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ควรสูบในบ้านหรือในที่อื่นๆ ที่มีเด็กอยู่ด้วย เพราะนอกจากไอบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เนื่องจากจะทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กและวัยรุ่นจะเข้าไปทดลอง จนเกิดการเสพติดและพัฒนาต่อไปสูบบุหรี่ธรรมดาหรือสิ่งเสพติดอื่นในอนาคต ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลอ้างอิง https://thorax.bmj.com/content/77/7/663
Credit : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3868984