จดหมายเปิดผนึกถึง อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
จดหมายเปิดผนึกถึง
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
ผมได้อ่านคำให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่มีการพูดว่า สสส. ให้ทุนแต่คนหน้าเดิม ๆ กลุ่มเดิม ๆ
ผมไม่รู้กรณีอื่น ๆ แต่ผมขอเล่าประสบการณ์ตรง กรณีการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ที่ผมทำมาสามสิบปี
ระหว่าง พ.ศ.2529 ถึง 2547 มีคนที่ทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทยไม่ถึงสิบคนในส่วนภาคเอกชน และในกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีเจ้าหน้าที่ทำงานไม่กี่คน
ผมได้พยายามเชิญชวนราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ให้ร่วมแสดงบทบาทในการชี้นำ รณรงค์ แต่ไม่มีใครมาร่วม สมัยนั้นเราไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนเลย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ต้องจัดโบว์ลิ่งและขอบริจาคจากหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ มาเป็นทุนทำงาน ซึ่งทำได้จำกัด
ปี พ.ศ.2548 สสส. เริ่มให้ทุนเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาร่วมทำโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ แต่การเชิญชวนคนมาทำนั้นหายากเหลือเกิน แม้แต่มีแหล่งทุนแล้ว ราชวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ก็ไม่สนใจที่จะทำโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ แม้ว่าสาขาวิชาชีพของเขาจะเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดจากการสูบบุหรี่โดยตรงก็ตาม
เราพยายามที่จะหาคนรับทุนเพื่อทำโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในระดับภูมิภาค โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จะเป็นพี่เลี้ยงด้านข้อมูลวิชาการให้ และ สสส. พร้อมที่จะให้ทุนถึงองค์กรในพื้นที่ที่จะรับทุนโดยตรง ผมเดินทางไปทั้งสี่ภาคหลายครั้ง เชิญชวนสถาบัน สมาคม รวมทั้งบุคคล ไม่ประสบความสำเร็จ
แม้แต่สมาคมอุรเวชช์ สมาคมโรคหัวใจ สมาคมโรคมะเร็ง ยังไม่สนใจที่จะทำงานบุหรี่
ผมสรุปเหตุผลในการที่มีคนหน้าใหม่มาทำงานเรื่องยาสูบน้อย เพราะ
1. เป็นงานลักษณะใหม่ที่คนจะทำต้องเรียนรู้ ว่าจะทำอะไรและทำอย่างไร เพราะไม่ใช่งานประจำ ไม่ใช่งานลักษณะสงเคราะห์
2. เป็นงานโครงการ หนึ่งปี สองปี อย่างเก่งสามปี แล้วไม่รู้ว่าจะยั่งยืนหรือไม่
3. เป็นงานที่ต้องไปทำกับคนอื่น หลาย ๆ ครั้งต้องไปง้อคนอื่น หรือขัดแย้งกับคนอื่น
4. เป็นงานที่ต้องเขียนโครงการเสนอผ่านการกลั่นกรองหลายขั้นตอน
5. การติดตามตรวจสอบ เอกสารหลักฐานการใช้เงินละเอียดยิบยุ่งยาก น่ารำคาญ
6. ค่าตอบแทนต่ำ ยากที่จะหาคนมาร่วมทีม ทำอย่างอื่นสบายกว่าได้ค่าตอบแทนมากกว่าเยอะ
กรณีที่ว่ามีกรรมการ สสส. ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อขอทุนจาก สสส. นั้น ผมทราบรายละเอียดอยู่กรณีเดียวคือ โครงการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ Quitline ทางโทรศัพท์ ที่เดิมอยู่ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นโครงการที่มีเจ้าหน้าที่ประจำหนึ่งคน ต่อมา สสส. ต้องการให้โครงการนี้เป็นโครงการระดับประเทศขอให้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เป็นผู้รับทุน ทางเราปฏิเสธและขอให้ไปหาหน่วยงานอื่นรับไปทำ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนรับ จึงมีการคุยกันระหว่าง สสส. กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ร่วมกันตั้งมูลนิธิสร้างสุขไทยขึ้น แล้วขอให้คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ เป็นประธานมูลนิธิฯ มีผู้แทนจากกรมควบคุมโรค สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล สปสช. ร่วมเป็นกรรมการ แล้วเชิญ รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ มาเป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อให้โครงการนี้เริ่มดำเนินการได้ เจตนารมณ์ของมูลนิธินี้คือ จะเป็นผู้รับทุนให้แก่โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช. แต่ไม่มีองค์กรนิติบุคคลที่จะเป็นองค์กรรับทุนจาก สสส.
กรณีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณหมอวิชัย ที่ถูกกล่าวหาว่าตั้งมูลนิธิฯ แล้วไปขอทุน สสส. ซึ่งในความเป็นจริงคือ โดยกฎของ สสส. ยกเว้นโครงการเล็ก ๆ แล้ว การให้ทุนจะต้องให้ผ่านนิติบุคคล เพื่อให้เกิด accountability จะได้ไล่เบี้ยองค์กรผู้รับทุนได้ หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่มีนิติบุคคลไหนมารับเป็นคู่สัญญา การทำงานก็จะล่าช้าไปเรื่อย ๆ จึงมีการตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อทำโครงการที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวม คุณหมอวิชัย กรณีนี้จริง ๆ แล้วไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัวอะไรเลยในฐานะประธานมูลนิธิที่ตั้งขึ้น นอกเหนือจากเบี้ยประชุม
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เราเชิญครูหลายคนมาเป็นผู้ทำงานกับโรงเรียน โดยฝ่ายมูลนิธิฯ เราเป็นทีมเลขาให้การสนับสนุน ทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 งานขยายใหญ่ขึ้น สสส. เสนอให้เครือข่ายครูแยกตัว เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปรากฏว่าไม่มีครูคนไหนรับทำ ได้ทาบทามข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการระดับสูงที่เกษียณอายุมาทำ ก็ไม่มีใครสนใจ จนมีการเสนอว่าให้ตั้งมูลนิธิเครือข่ายครูเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยขอให้ผมไปเป็นประธานมูลนิธิฯ ผมรับด้วยเงื่อนไขว่า ผมจะเป็นเพียงประธานมูลนิธิฯ ให้ ส่วนเนื้องานบริหารจัดการทั้งหมด คุณครูทั้งหลายต้องรับไปจัดการ โชคดีของผมที่ไม่มีครูที่จะรับ จึงไม่มีการตั้งมูลนิธินี้ขึ้น มิฉะนั้นผมก็จะถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน
ผมเชื่อว่าอาจารย์ทั้งสองท่าน มีความหวังดีต่อส่วนรวม ต้องการติเพื่อก่อให้ สสส. ปรับปรุงระบบงานให้สังคมหายคลายแคลงใจ
แต่ก็อยากจะขอให้ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้องและมีประโยชน์ และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานกับ สสส. ด้วย
แน่นอนใครที่ทำงานกับ สสส. หากมีการทำผิด ก็ต้องได้รับโทษ ซึ่งอาจารย์อานนท์เองก็ย้ำเองถึงกฎแห่งกรรม
ผมเองสมัยเมื่อเป็นรองประธานคนที่สองของ สสส. ก็เคยถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีที่อาจารย์ท่านหนึ่งในโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำโครงการป้องกันอุบัติเหตุกับ สสส. ผมเป็นคนเซ็นสัญญารับทุนในฐานะประธานมูลนิธิรามาธิบดี ผมถูก ครม. ปลดออกจากตำแหน่งรองประธานและถูกส่งให้ ปปช. ตรวจสอบอยู่เจ็ดปี กว่าจะมีผลสรุปว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล
ผมจึงชี้แจงอาจารย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะไม่อยากให้คนที่มีความตั้งใจดี ไม่กล้าที่จะมาทำงานกับ สสส. เพราะกลัวเปลืองตัว
และผมยินดีหากอาจารย์มีข้อข้องใจที่จะให้ผมอธิบายเพิ่มเติมครับ
และก็ช่วยผมหาองค์กรที่จะทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่สักภาคละหนึ่งองค์กรได้ จะขอบคุณมาก ๆ ครับ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
29 ตุลาคม 2558